น่านน่าอยู่ น่านน่ากิน น่านน่าเที่ยว น่านน่าเรียน
และน่านน่าธรรม
คือ ๕ มิติ เป้าหมาย ที่ นายนพรัตน์ ถาวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ได้กำหนดไว้เป็นเป้าหมายเพื่อพัฒนาพัฒนาและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชนชาวน่าน และจังหวัดน่าน ตามนโยบายน่านหนึ่งเดียว โดยมีรายละเอียด ดังนี้
๑.นโยบายที่สามารถดำเนินการได้ทันที
นโยบายที่สามารถดำเนินการได้ทันทีในห้วงระยะเวลาเริ่มแรกของการเข้าบริหารราชการในฐานะฝ่ายบริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน
คือ การจัดให้มีศูนย์เครื่องจักรกลย่อยขององค์การบริหารส่วนจังหวัดน่านประจำการในอำเภอปัว
อำเภอเวียงสา หรืออำเภอใกล้เคียงที่เหมาะสม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน
และสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที และยังคอยสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
หรือส่วนราชการในพื้นที่ ในการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนอีกด้าน โดยให้ศูนย์เครื่องจักรกลย่อยดังกล่าวมีเขตรับผิดชอบอำเภอใกล้เคียงตามพื้นที่แบ่งเป็นโซนตอนเหนือและโซนตอนล่างของจังหวัด
นอกเหนือจากโซนตอนกลางที่ประจำอยู่องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่านอยู่แล้ว
๒.นโยบายด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
๒.๑ พัฒนาเส้นทางการคมนาคมให้มีมาตรฐาน โดยการก่อสร้าง
ปรับปรุงเส้นทางการคมนาคมอย่างทั่วถึง โดยมุ่งเน้นเส้นทางสัญจรเชื่อมระหว่างท้องถิ่นภายในจังหวัด
เส้นทางเข้าพื้นที่การเกษตรที่เชื่อมต่อระหว่างเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และเส้นทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ
ของจังหวัด
๒.๒
ก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมถนนที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจ
และที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
ให้ครอบคลุมทุกสายทาง
๒.๓
พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร อาทิเช่น การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ
สระเก็บน้ำ ฝาย ขุดลอกคูคลองที่ตื้นเขินให้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ การขุดเจาะบ่อบาดาล
การจัดทำระบบธนาคารน้ำใต้ดิน และการบริหารจัดการน้ำแบบครอบคลุมครบวงจร
โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับร่วมกันหลายท้องถิ่น
๒.๔ สนับสนุน ประสานการดำเนินงาน
และบูรณาการความร่วมมือแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ทั้งในด้านเครื่องมือ
เครื่องจักรกล บุคลากร และงบประมาณ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวในการพัฒนาท้องถิ่นร่วมกัน
๓.นโยบายด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว
๓.๑ ส่งเสริมการจัดการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน
การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมประเพณี ศาสนา
และวิถีชีวิต การท่องเที่ยงเชิงเกษตร และการท่องเที่ยวด้านอื่นที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดน่าน
รวมถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เพื่อสร้างและก่อให้เกิดรายได้แก่ประชาชนชาวจังหวัดน่าน
๓.๒
ส่งเสริมการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวตามเทศกาล ตามฤดูกาล
และการท่องเที่ยวเทศกาลอาหารปลอดภัย อาหารท้องถิ่นพื้นเมืองล้านนา เพื่อสร้างโอกาสในอาชีพและการกระจายรายได้
๓.๓
ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรการท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ชุมชน ของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคชุมชน
เพื่อให้มีความพร้อมในการรองรับธุรกิจการท่องเที่ยวในทุกด้าน
เพื่อสร้างอาชีพและก่อให้เกิดรายได้
๓.๔ สนับสนุนหน่วยงานการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและเอกชน
สนับสนุนนโยบายการท่องเที่ยวในระดับจังหวัด และกลุ่มจังหวัดล้านนา สร้างความเป็นเอกภาพในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นตามแนวทางร่วมกัน
๔.นโยบายด้านการพัฒนาการเกษตร
การเศรษฐกิจ และการส่งเสริมอาชีพ
๔.๑
พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร
ปรับปรุงเส้นทางเข้าสู่พื้นที่การเกษตรเพื่อการขนถ่ายผลผลิตทางการเกษตร
๔.๒ ส่งเสริมให้มีการพัฒนาการเกษตรปลอดภัยทั้งพืชและสัตว์
การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การเพิ่มมูลค่า การเพิ่มคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร
๔.๓ สนับสนุนทุกกลุ่มอาชีพในการพัฒนาอาชีพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
ให้ผลิตสินค้าได้คุณภาพและมีมาตรฐาน
๔.๔
ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการฝึกอบรมอาชีพตามความต้องการและตามความเหมาะสมแก่กลุ่มอาชีพ
หรือตัวแทนประชาชนที่สนใจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในจังหวัดให้ครอบคลุมทั่วถึง
เพื่อการสร้างงาน และสัมมาอาชีพ สร้างรายได้
๔.๕ ให้ความร่วมมือกับจังหวัด
หรือหน่วยงานส่งเสริมอาชีพต่างๆ
สำหรับการจัดนิทรรศการตลาดสินค้าการเกษตรทั้งในระดับชุมชน ระดับจังหวัด
และระดับภูมิภาคภายในจังหวัด รวมทั้งสนับสนุนและผลักดันให้จังหวัดน่านสามารถยกระดับเป็นเขตพัฒนาพิเศษล้านนาตะวันออกในอนาคต
๕.นโยบายด้านการศึกษา
ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น
๕.๑ สนับสนุนและส่งเสริมการจัดการศึกษาในทุกระดับ
ส่งเสริมการเรียน รู้ทั้งในและนอกระบบ ให้มีความเท่าเทียม
เพื่อความเป็นเอกภาพทางด้านการศึกษา ของผู้สอนและผู้เรียน
ทั้งโรงเรียนในสังกัด และโรงเรียนนอกสังกัดในพื้นที่จังหวัดน่าน
ให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ วิชาชีพ
และวิชาว่าด้วยชีวิต
๕.๒
ส่งเสริมและปลูกฝังจารีตประเพณี การน้อมนำธรรมะของพระพุทธเจ้า
ให้เกิดการเรียนรู้และนำไปสู่การปฏิบัติ บังเกิดผลดีแก่ชีวิตของประชาชนชาวจังหวัดน่าน
เพื่อความผาสุกในชีวิตประจำวัน สร้างความเป็นคนน่าน ตามวิถีน่าน ให้เมืองน่านเป็นเมืองน่าอยู่สืบไป
๕.๓
ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมด้านการศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี
ภูมิปัญญาท้องถิ่น
ตามวิถีและความเชื่อของพี่น้องประชาชนให้อนุรักษ์และควบคู่กับการฟื้นฟูสืบทอดต่อกันได้อย่างยั่งยืน
๕.๔
พัฒนาแหล่งโบราณสถาน ศิลปวัตถุ บ้านโบราณ เพื่อเป็นการระลึกถึงบรรพชน
และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นน่าน ให้คงอยู่คู่ชาวจังหวัดน่านสืบไป
๕.๕ สนับสนุนและให้ความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในจังหวัดน่าน
ในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิถีชีวิต
ให้มีความเป็นอันหนึ่งเดียว ตามแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูในทิศทางเดียวกัน
๖.นโยบายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๖.๑
สนับสนุนการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับชุมชน ระดับลุ่มน้ำ
และภาพรวมในระดับจังหวัด
๖.๒ รณรงค์และสร้างความสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
และพัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกระดับ โดยการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม
๖.๓ ส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานราชการอื่น ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลรวมอย่างมีประสิทธิภาพ
๖.๔
พัฒนาการจัดระบบบำบัดน้ำเสียให้ครอบคลุม
๖.๕
สร้างมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันแบบองค์รวม จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน
เพื่อให้จังหวัดน่านปลอดจากค่าวัดอากาศฝุ่นละออง PM ๒.๕
๗.นโยบายด้านการสาธารณสุข
และการพัฒนาคุณภาพชีวิต
๗.๑
ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน สตรี ผู้สูงวัย ผู้พิการ
และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ให้ได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน
๗.๒
พัฒนาศักยภาพการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้สามารถช่วยเหลือประชาชนในหมู่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๗.๓ พัฒนาศักยภาพของกลุ่มพัฒนาสตรี
กลุ่มเยาวชน และกลุ่มประชาคมต่างๆ ให้เป็นผู้ที่มีคุณภาพ มีองค์ความรู้พร้อมช่วยเหลือเยียวยาคนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๗.๔ จัดให้มีสถานที่ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม สถานที่ฝึกซ้อมและแข่งขันกีฬาที่ได้มาตรฐาน
อุปกรณ์กีฬาและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ออกกำลังกายและนักกีฬาภายในสนามกีฬาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดน่านอย่างพอเพียง
๗.๕
สนับสนุนให้ความช่วยเหลือทุกภาคส่วนของจังหวัด
ในการป้องกัน ควบคุม รักษา
และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และ/หรือ โรคระบาดอื่น บนแนวทางความร่วมมืออย่างเป็นเอกภาพเดียวกัน
๗.๖ สร้างกลไกความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
การปกครองท้องที่ หมู่บ้านชุมชน และสถาบันการศึกษาในพื้นที่
ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
๘.นโยบายด้านพัฒนาการเมืองท้องถิ่น การบริหารจัดการองค์กร และการจัดการบ้านเมืองที่ดี
๘.๑
ส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้พื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตย
การเมืองระดับท้องถิ่นที่เชื่อมโยงการเมืองระดับชาติ แก่เด็กนักเรียน เยาวชน
และผู้สนใจทั่วไป เพื่อสร้างความเข้มแข็งในระบอบประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน
๘.๒วางแผนพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถและทักษะด้านการบริหารงาน
และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศตามยุคสมัย
เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลต่อองค์กร
๘.๓ ประสานการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัด
ให้มีคุณภาพและมีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดน่านได้อย่างตรงความต้องการ
๘.๔ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมจัดทำแผนพัฒนาขององค์การบริหารส่วนจงหวัดในทุกระดับ
๘.๕
ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน
ให้สอดคล้องและสามารถรองรับการดำเนินภารกิจตามกรอบระเบียบกฎหมายที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไป
๘.๖พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อนำมาใช้ในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดน่านให้มีประสิทธิภาพ
และสามารถอำนวยความสะดวกแก่พี่น้องประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
๘.๗ ส่งเสริมให้บุคลากรปฏิบัติงานตามมาตรฐานจริยธรรม
คุณธรรม ให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อประโยชน์ขององค์กรในภาพรวม
๘.๘ สร้างระบบการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีภายในองค์กร ตามหลักธรรมาภิบาล
และแนวทางตามระเบียบกฎหมายที่ได้กำหนดไว้ |